รายงานการศึกษา : เสียงสะท้อนจากใจ..เด็กทุนซีพี
รายงานการศึกษา : เสียงสะท้อนจากใจ..เด็กทุนซีพี
สถานการณ์เด็กไทย “หลุดออกจากระบบการศึกษา” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน พยายามหาแนวทางให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง เพราะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ระบุว่า หากไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 3% และหากแก้ปัญหาได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง “ทุนมนุษย์” ที่สูญเสียไป ทำให้เกิดการลดทอนศักยภาพ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งการสะสมทุน ผลผลิตของประเทศ รวมถึง การลดลงของพัฒนาการในทุกด้าน
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่เครือซีพี ที่ตั้งใจพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการส่งเสริมระบบศึกษาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า “ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้ ขึ้นอยู่กับศึกษา เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคน”
หนึ่งในนั้น คือสนับสนุนทุนการศึกษาภายใต้ชื่อ “ทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ทุนซีพี” ที่ให้ต่อเนื่องกว่า 40 ปี เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่ประพฤติดี เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เรียนจบปริญญาตรี เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับองค์กร
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน อดีตนักศึกษาทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ รุ่นที่ 12 เปิดใจว่า ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด จึงเข้าใจดีว่าเด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสที่ดี ต่างจากเด็กกรุงเทพฯ หลังจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำงานด้านสื่อสารมวลชน พร้อมเรียนต่อจนจบปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ควบคู่กับการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด ผ่านการเป็นวิทยากรให้กับวิทยุชุมชนทั่วประเทศ แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยหวังเสมอว่าความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา จะเป็นประโยชน์กลับคืนสู่คนในสังคม
เช่นเดียวกับ นายกมล นัฎสถาพร เด็กทุนซีพีรุ่นที่ 35 หนุ่มวิศวกรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่นำความรู้จากการฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติจริงช่วงระหว่างรับทุน และนำมาพัฒนานวัตกรรม ได้จดสิทธิบัตร 2 ผลงานที่มีคุณภาพคือ ชุดบันไดปลดล็อคเหล็กตะแกรงเครื่องบด และชุดอุปกรณ์ช่วยเกี่ยวจับ ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์นำพาประเทศชาติสู่ยุค 5.0
“การได้ทุนในวันนั้น ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ให้ครอบครัวดีขึ้น จากอดีตเด็กสวน ทำเกษตรช่วยเหลือแม่ ส่งเสียครอบครัว ได้มาเป็นวิศวกร ได้ใช้ศักยภาพพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เปรียบเสมือนการตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นความภาคภูมิใจที่สุด”
น.ส.รีซาวาตี มูซอ หญิงสาวมุสลิมชาวนราธิวาส เด็กทุนซีพีรุ่นที่ 40 เล่าว่า ถ้าไม่ได้รับทุน คงไม่มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงคุณยาย ที่เปรียบเสมือนแม่ผู้ดูแลสองพี่น้องตั้งแต่แรกเกิด การได้รับทุนซีพี ทำให้ครอบครัวได้เห็นรอยยิ้มจากคุณยาย ที่หลานสาวคนเดียวได้เรียนปริญญาตรี
“ทุนซีพีเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้ได้เรียนต่อในสิ่งที่รัก ได้เป็นครูสอนหนังสือให้น้องๆ มุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่เด็กผู้หญิงชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ จะได้โอกาสเรียนปริญญาตรี ทำให้มีพลังนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับน้องที่หลุดจากระบบการศึกษาในนราธิวาส ให้มีโอกาสทัดเทียมเด็กคนอื่น”
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่ง ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญด้านการศึกษาของภาคเอกชนไทย ผ่านการให้ “โอกาส” ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อสร้างคนที่พร้อมจะนำความรู้ และศักยภาพ ไปพัฒนาสังคม และประเทศชาติ